ดาวอินคา พืชมหัศจรรย์

ดาวอินคา พืชมหัศจรรย์

        ดาวอินคา   เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้  บริเวณป่าอะเมซอน  แถบประเทศเปรู มีการใช้ประโยชน์มาตั้งแต่สมัยอารยธรรมชาวอินคา หรือเมื่อกว่า 3000 ปีที่ผ่านมา โดยนำมาประกอบอาหาร เช่น เมล็ดสุกนำมาทำซอส น้ำมัน และเมล็ดคั่วเป็นส่วนผสมของอาหารพื้นเมืองหรือทำเป็นครีมบำรุงผิว เป็นต้น     ดาวอินคา เป็นพืชที่ผลมีรูปร่างคล้ายดาว ภายในมีเมล็ดคล้ายถั่ว  เมื่อนำเข้ามาปลูกใประเทศไทย จึงเรียกว่าดาวอินคา หรือ ถั่วดาวอินคา


       ดาวอินคา เป็นพืชวงศ์ Euphorbiaceae  เช่นเดียวกับ ยางพารา สบู่ดำ หรือมันสำปะหลัง  ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Plukenetia volubilis L. 

       มีชื่อสามัญว่า sacha inchi, sacha peanut, mountain peanut, supua  หรือ Inca peanut  เป็นพืชอายุหลายปี  เป็นพืชเฉพาะถิ่นในป่าอะเมซอนแถบประเทศเปรู พืชในสกุลนี้มีพบในประเทศไทยอยู่ 1 ชนิด คือ Plukenetia corniculata Sm. ส่วนชื่อไทยและการใช้ประโยชน์นั้นยังไม่มีข้อมูล

       ดาวอินคา  เป็นไม้เลื้อยอายุหลายปี  มีอายุได้นาน 10 ถึง 50 ปี ลำต้นสูง 2 เมตร  กิ่งและยอดแผ่เลื้อยพันตามกิ่งไม้หรือเลื้อยพันในที่อื่นๆ

       ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบตรงถึงรูปหัวใจ ขอบใบจักฟันเลื่อย ใบยาว 10 – 12 ซม.  กว้าง 8 – 10 ซม. ก้านใบยาว 2 – 6 ซม.

       ดอก เริ่มออกดอกเมื่ออายุ 5 เดือนหลังจากปลูก และติดเมล็ดเมื่ออายุ 8 เดือน ดอกช่อแบบช่อกระจะ (raceme)  ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้ขนาดเล็ก สีขาว เรียงเป็นกระจุกตลอดความยาวช่อ ดอกเพศเมีย 2 ดอก อยู่ที่โคนช่อดอก

       ผลแบบแคปซูล เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 – 5 ซม.  มี 4 – 7 แฉก  ผลอ่อนสีเขียว  และสีจะเข้มขึ้นตามอายุ ผลแก่มีสีน้ำตาลดำ มีเนื้อนุ่มๆ สีดำหุ้มอยู่ซึ่งกินไม่ได้ โดยปกติจะทิ้งให้แห้งคาต้นก่อนเก็บเกี่ยว เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วนำมาตากแดดอีก 1 วัน จึงนำผลผลิตไปจำหน่าย

       เมล็ดรูปไข่ สีน้ำตาลดำ ขนาดกว้าง 1.7 – 1.8 ซม.  ยาว 2.0 – 2.2 ซม.  เมล็ดหนัก 1.3 - 1.7 กรัม   เมล็ดแห้งที่ยังดิบอยู่ใช้บริโภคไม่ได้ แต่ถ้านำไปคั่วให้สุกแล้วจะอร่อยมาก  ต้นดาวอินคาเจริญเติบโตได้ในที่อุณหภูมิ 10 – 36 องศาเซลเซียส  ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 100 – 2000 เมตร จากระดับน้ำทะเล สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย


การปลูก

       ขยายพันธุ์โดยเมล็ด  โดยการนำเมล็ดที่แก่แล้วมาเพาะในถุงดำ  เมื่อต้นสูงประมาณ 30 ซม.  จึงย้ายปลูก หรือหยอดเมล็ดในหลุมปลูกเลยก็ได้ ระยะปลูก 2 x 3 ถึง 2 x 4 เมตร พื้นที่ 1 ไร่  จะปลูกได้ 200 – 300 ต้น  เป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำขังแฉะ  ในพื้นที่ต่ำควรยกร่อง  ทำค้างสำหรับให้ต้นเลื้อยพัน  โดยใช้วัสดุในพื้นที่  ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมักใช้ท่อพีวีซีเป็นเสาหลักแล้วใช้สายโทรศัพท์เก่าขึงระหว่างเสาเป็นค้างสำหรับให้ยอดเลื้อยพัน โรคแมลงยังรบกวนน้อย   ปุ๋ยที่ใช้ควรเป็นปุ๋ยอินทรีย์   โดยทั่วไปดาวอินคาสามารถให้ผลผลิต 600 – 800 กิโลกรัมต่อไร่ และให้ผลผลิตยาวนาน 15 – 50 ปี

ต้นกล้า ดาวอินคา

การใช้ประโยชน์

ทุกส่วนของต้นดาวอินคาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ยอดและใบอ่อน สามารถนำไปประกอบอาหารได้ เช่น นำไปผัด

ใบ ของต้นดาวอินคา โดยเฉพาะใบที่ยังไม่แก่มากนำมาหั่นแล้วผึ่งแดด 1 – 2 แดด  นำไปต้มดื่มเป็นน้ำชา สามารถลดน้ำตาล และไขมันในเส้นเลือด หรือนำไปสกัดเป็นน้ำคลอโรฟิลล์

ผลอ่อน นำไปประกอบอาหาร เช่น ฝานเป็นชิ้นบางๆ แล้วนำไปผัดกับยอดและใบเช่นเดียวกับผัดผักบุ้งไฟแดง หรือนำไปทำแกงเลียงก็ได้

น้ำมันดาวอินคา  เป็นน้ำมันที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง  และเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2007   น้ำมันดาวอินคาได้รับรางวัลเหรียญทองจาก the AVPA Specialty Foods Commodities ดาวอินคาได้ชื่อว่าเป็น super food เนื่องจากมีกรดไขมันที่จำเป็นในปริมาณสูง น้ำมันมีกลิ่นหอมอ่อนๆ รสไม่ขม และเมล็ดดาวอินคาก็มีการทำเป็นขนมขบเคี้ยวเนื่องจากมีโอเมก้า 3     และโปรตีนสูง เมล็ดดาวอินคามีโปรตีนถึง 27% และน้ำมันสูงถึง 35 – 60% ในน้ำมันมีโอเมก้า 3 สูงถึง 45 – 63% โอเมก้า 6 สูง 34 – 39% และโอเมก้า 9 สูง 6 – 10% นอกจากนี้ยังประกอบด้วยไอโอดีน วิตามินเอ และวิตามินอี

น้ำมันดาวอินคามีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยลดคอเลสเตอรอล ป้องกันการแข็งตัวของเลือด ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ช่วยลดไตรกลีเซอไรด์  ป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ลดน้ำหนัก ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดอาการซึมเสร้า รักษาความแข็งแรงของเยื่อหุ้มเซลล์ ลดการอักเสบของหลอดเลือด โรคไขข้อ รักษาโรคผิวหนัง หอบหืด ไมเกรน ต้อหิน มีสารต้านอนุมูลอิสระ ควบคุมความดันลูกตาและเส้นเลือด รวมทั้งควบคุมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

น้ำมันจากเมล็ดดาวอินคา มีทั้งรูปแบบที่บรรจุแคปซูล และบรรจุขวด เป็นน้ำมันประกอบอาหาร ทำน้ำสลัด ทำผลิตภัณฑ์เสริมความงามและอาหารเสริมเช่น โฟมล้างหน้า สบู่ ครีมบำรุงผิว โลชั่น กากเมล็ดและเปลือก นำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หรือเชื้อเพลิงอัดแท่ง


ขอบคุณข้อมูลจาก


ความคิดเห็น