ความเหมือนที่แตกต่าง......อย่างลงตัว

 

     ณ เวลาหนึ่งผมได้ฉุกคิดถึงความเกี่ยวโยง เชื่อมโยงกัน หรือความเหมือนของมนุษย์ ( คน ) และ พืชต่างๆ ที่มีความต้องการที่เหมือนๆ กัน ในเรื่องของธาตุอาหาร

     เราอาจเคยได้ยินเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ เดาคร่าวๆ คือการทำการเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี บางรายอาจรวมถึงปุ๋ยเคมีด้วยนะครับ ว่าต้องไม่ใช้ปุ๋ยนี้เด็ดขาดต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ถึงจะเรียกว่าเกษตรอินทรีย์

     เราลองมาทำความเข้าใจใหม่นะครับกับคำว่าเกษรตอินทรีย์ในมุมมองแบบวิทยาศาสตร์ นิดๆๆ  กันดูนะครับว่าจะเป็นอย่างไร เรามาวิเคราะห์กันว่า N P K ที่อยู่ในปุ๋ยเคมีนั้นจริงๆแล้วมันคืออะไร มันเกี่ยวกับตัวคนเราอย่างไร

     มาดู ตามตัวอย่างธาตุหลักในปุ๋ยเคมี แต่ละชนิดกันเลยนะครับ



ฟอสฟอรัส (phosphorusสัญลักษณ์ P เลขอะตอม 15  เป็นธาตุอโลหะ

มาดูว่า "พืช" เขาต้องการฟอสฟอรัสไปทำอะไร

     ฟอสฟอรัสเป็นธาตุอาหารที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของรากพืช โดยธาตุฟอสฟอรัสจะช่วยทำให้รากของพืชแข็งแรงและแผ่กระจายได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ลำต้นแข็งแรงไปด้วย
     โดยปกติธาตุฟอสฟอรัสนี้ก็มีมากอยู่ในดินอยู่แล้ว แต่เป็นธาตุที่ไม่เคลื่อนที่ในดินและละลายน้ำได้ยาก ผลที่ตามมา คือ พืชนำไปใช้ได้ยากเช่นกัน
      การใช้ปุ๋ยคอก นอกจากจะได้ธาตุไนโตรเจนแล้วก็ยังได้ธาตุฟอสฟอรัสอีกด้วย
      ธาตุฟอสฟอรัสในดินที่จะเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ จะต้องอยู่ในรูปของอนุมูลของ สารประกอบที่เรียกว่า ฟอสเฟตไอออน (H2PO4- และ HPO4-) ซึ่งจะต้องละลายอยู่ในน้ำในดิน ซึ่งธาตุฟอสฟอรัสส่วนใหญ่ที่อยู่ในดินก็ละลายน้ำยากอยู่แล้ว  ฉะนั้นเราก็ต้องพึ่งการทำปฏิกิริยาขึ้นมาเอง ( เคมี ) เพื่อให้พืชได้รับธาตุอาหารได้ง่ายขึ้น  
      การใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัส มักจะใส่ไปที่รากแบบตรง ฟอสเฟตนี้ถึงแม้จะอยู่ใกล้ชิดกับรากก็จะไม่เป็นอันตรายแก่รากแต่อย่างใด ปุ๋ยคอกจะช่วยป้องกันไม่ให้ปุ๋ยฟอสเฟตทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุในดินและสูญเสีย ความเป็นประโยชน์ต่อพืชเร็วจนเกินไป
       พืชเมื่อขาดฟอสฟอรัสจะมีต้นแคระแกร็นใบมีสีเขียวคล้ำ ใบล่าง ๆ จะมีสีม่วงตามบริเวณขอบใบ รากของพืชชะงักการเจริญเติบโต พืชไม่ออกดอกและผล รากพืชจะไม่เจริญ มีรากฝอยน้อย ต้นเตี้ย ใบและต้นมีสีเข้มและบางครั้งมีสีม่วงหรือแดงเกิดขึ้น พืชแก่ช้ากว่าปกติ เช่น การผลิดอก ออกผลช้า มีการแตกกอน้อย การติดเมล็ดน้อย หรือบางครั้งไม่ติดเมล็ด
      พืชที่ได้รับฟอสฟอรัสอย่างเพียงพอจะมีระบบรากที่แข็งแรงแพร่กระจายอยู่ในดิน อย่างกว้างขวาง สามารถดึงดูดน้ำและธาตุอาหารได้ดี การออกดอกออกผลจะเร็วขึ้น ระบบรากให้แข็งแรง ช่วยในการแตกกอ และช่วยให้ลำต้นแข็งแรงไม่ล้มง่าย ช่วยให้พืชดูดใช้ธาตุไนโตรเจนและโมลิบดีนัมได้ดีขึ้น  (โมลิบดีนัมเป็นธาตุอาหารที่สำคัญของพืชและพบในเอ็นไซม์แซนทินออกซิเดส (xanthine oxidase) )

มาดูว่า "มนุษย์" ต้องการฟอสฟอรัสไปเพื่ออะไร

       มีความเกี่ยวข้องกันกับกระบวนการทางเคมีของร่างกายในเกือบทุกส่วน มีความสำคัญต่อการทำงานที่เป็นปกติสม่ำเสมอของหัวใจ และสำคัญอย่างมากต่อการทำงานของไต ต่อโครงสร้างของกระดูกและฟัน ร่างกายจำเป็นต้องใช้ฟอสฟอรัสในกระบวนการส่งต่อสัญญาณประสาท
      วิตามินดีและแคลเซียม มีส่วนสำคัญต่อการทำงานของฟอสฟอรัส ถ้าหากร่างกายขาดฟอสฟอรัส วิตามินบี 3 จะไม่สามารถดูดซึมได้ และโรคจากการขาดฟอสฟอรัส ได้แก่ โรคเหงือกอักเสบและโรคกระดูกอ่อนในเด็ก โดยศัตรูของฟอสฟอรัส ได้แก่ การรับประทานธาตุเหล็ก แมกนีเซียม อะลูมิเนียม  มากเกินไป อาจทำให้ฟอสฟอรัสด้อยประสิทธิภาพลง แล้วฟอสฟอรัสยังช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดของโรคข้ออักเสบอีกด้วย

สรุปง่ายๆ คือทั้งคนและพืชเมื่อขาดธาตุฟอสฟอรัส ระบบพื้นฐานของร่างกายก็ไม่แข็งแรง ส่งผลต่อการเจริญเติบโต  

.............................................................................................................................................................

ไนโตรเจน Nitrogen )  สัญลักษณ์ N และเลขอะตอม 7 เป็นอโลหะที่มีสถานะเป็นแก๊สที่มีอยู่ทั่วไป โดยปกติไม่มีสี กลิ่น หรือรส

มาดูว่า "พืช" ต้องการไนโตรเจนเพื่ออะไร

        พืชโดยทั่วไปมีความต้องการธาตุไนโตรเจนเป็นจำนวนมาก เป็นธาตุอาหารที่สำคัญมากในการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของพืช พืชที่ได้รับไนโตรเจนอย่างเพียงพอ ใบจะมีสีเขียวสด มีความแข็งแรง โตเร็ว และทำให้พืชออกดอกและผลที่สมบูรณ์ 
       
       เมื่อพืชได้รับไนโตรเจนมาก ๆ บางครั้งก็ทำให้เกิดผลเสียได้เหมือนกัน เช่น จะทำให้พืชอวบน้ำมาก ต้นอ่อน ล้มง่าย โรคและแมลงเข้ารบกวนทำลายได้ง่าย คุณภาพผลิตผลของพืชบางชนิดก็จะเสียไปได้ เช่น ทำให้ต้นมันไม่ลงหัว มีแป้งน้อย อ้อยจืด ส้มเปรี้ยว และมีกากมาก 
      
      แต่บางพืชก็อาจทำให้คุณภาพดีขึ้น โดยเฉพาะพวกผักรับประทานใบ ถ้าได้รับไนโตรเจนมากจะอ่อน อวบน้ำ และกรอบ ทำให้มีเส้นใยน้อย และมีน้ำหนักดี แต่ผักมักจะเน่าง่าย และแมลงชอบรบกวน

      พืชเมื่อขาดไนโตรเจนจะแคระแกร็น โตช้า ใบเหลือง โดยเฉพาะใบล่าง ๆ จะแห้ง ร่วงหล่นเร็วทำให้แลดูต้นโกร๋น การออกดอกออกผลจะช้า และไม่ค่อยสมบูรณ์นัก ดินโดยทั่ว ๆ ไปมักจะมีไนโตรเจนไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช 
      ดังนั้นเวลาปลูกพืชจึงควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเคมีเพิ่มเติมให้กับพืชด้วย

มาดูว่า "มนุษย์" ต้องการไนโตรเจนเพื่ออะไร

       ไนโตรเจนมีสมบัติเป็นก๊าซเฉื่อย มีประโยชน์ที่สำคัญ คือ ช่วยเจือจางความเข้มข้นของออกซิเจนในอากาศทำให้ออกซิเจนมีความเข้มข้นพอเหมาะสำหรับสิ่งมีชีวิตที่จะนำไปใช้ได้ โดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย เพราะการหายใจเอาออซิเจนที่มีความเข้มข้นสูงเข้าไปจะทำให้เกิดการสันดาป (เผาไหม้) ภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเป็นไปอย่างรุนแรง และก่อให้เกิดอันตรายจนอาจถึงแก่ชีวิตได้

สรุปง่ายๆ ไนโตรเจนก็ยังมีความจำเป็นต่อพืชและมนุษย์อยู่ ซึ่งต้องอยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะไม่มากไปและน้อยไป

..............................................................................................................................................................



โพแทสเซียม (Potassiumสัญลักษณ์ K มีเลขอะตอม 19  ธาตุเคมีในกลุ่มโลหะ

มาดูว่า "พืช" ต้องการโพแทสเซียมมาทำอะไร

        ธาตุโพแทสเซียมในดินที่พืชนำเอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้ มีกำเนิดมาจากการสลายตัวของหินและแร่มากมายหลายชนิดในดิน  โพแทสเซียมที่อยู่ในรูปอนุมูลบวก หรือโพแทสเซียมไอออน (K+) เท่านั้นที่พืชจะดึงดูดไปใช้เป็นประโยชน์ได้ 
       อนุมูลโพแทสเซียมในดินอาจจะอยู่ในน้ำในดิน หรือดูดยึดอยู่ที่พื้นผิวของอนุภาคดินเหนียวก็ได้ ส่วนใหญ่จะดูดยึดที่พื้นผิวของอนุภาคดินเหนียว ดังนั้นดินที่มีเนื้อดินละเอียด เช่น ดินเหนียว จึงมีปริมาณของธาตุนี้สูง กว่าดินพวกเนื้อหยาบ เช่น ดินทรายและดินร่วนปนทราย ถึงแม้โพแทสเซียมไอออนจะดูดยึดอยู่ที่อนุภาคดินเหนียว รากพืชก็สามารถดึงดูดธาตุนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย ๆ พอกันกับเมื่อมันละลายอยู่ในน้ำในดิน ดังนั้นการใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมอาจจะใส่แบบคลุกเคล้าให้เข้ากับดินก่อนปลูกพืชได้ หรือจะใส่โดยโรยบนผิวดินแล้วพรวนกลบก็ได้ถ้าปลูกพืชไว้ก่อนแล้ว

       ธาตุโพแทสเซียมมีความสำคัญในการสร้างและการเคลื่อนย้ายอาหารพวกแป้งและน้ำตาลไปเลี้ยงส่วนที่กำลังเติบโต และส่งไปเก็บไว้เป็นเสบียงที่หัวหรือที่ลำต้น 

      ดังนั้นพืชพวกอ้อย มะพร้าว และมัน จึงต้องการโพแทสเซียมสูงมาก ถ้าขาดโพแทสเซียมหัวจะลีบ มะพร้าวไม่มัน และอ้อยก็ไม่ค่อยมีน้ำตาล 

      พืชที่ขาดโพแทสเซียมมักเหี่ยวง่าย แคระแกร็น ใบล่างเหลืองและเกิดเป็นรอยไหม้ตามขอบใบ 

      พืชที่ปลูกในดินทรายที่เป็นกรดรุนแรงมักจะมีปัญหาขาดโพแทสเซียม แต่ถ้าปลูกในดินเหนียวมักจะมีโพแทสเซียมพอเพียงและไม่ค่อยมีปัญหาที่จะต้องใส่ปุ๋ยนี้

      ฉะนั้นอยู่ดีจะเอาธาตุโพแทสเซียมที่อยู่ในดินมาใช้ประโยชน์เลยอาจทำได้ช้า จึงจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการทางเคมีเข้าไปช่วยเพื่อให้พืชได้รับแร่ธาตุได้ง่ายได้

มาดูว่า "มนุษย์" ต้องการโพแทสเซียมเพื่ออะไร

ประโยชน์ของโพแทสเซียม 
1. ช่วยควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกายและช่วยให้การทำงานของหัวใจเต้นเป็นปกติ 
2. ช่วยลดความดันโลหิต 
3. ช่วยรักษาภูมิแพ้ 
4. ช่วยให้มีสติปัญญา จิตใจร่าเริงแจ่มใส โดยมีออกซิเจนไปเลี้ยงที่สมอง 
5. ช่วยกำจัดของเสียต่างๆในร่างกาย

นอกจากนี้โพแทสเซียม ( เกลือแร่ชนิดหนึ่ง ) มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการยืดหดตัวของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ รักษาสมดุลของน้ำ กรด-ด่าง ในร่างกาย ควบคุมความดันโลหิต อีกด้วย

สรุปง่ายๆ โพแทสเซียมก็มีความสำคัญทางด้านการรักษาสมดุลของทั้งคนและพืช ถ้าขาดแล้วก็ทำให้ระบบรวนไปเลย

............................................................................................................................................................

เห็นไหมหล่ะครับว่า ทั้งพืชและคน ก็ยังมีความต้องการธาตุอาหารที่เหมือนๆกัน ซึ่งจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เช่นกัน

เราอาจจะสงสัยว่าแล้วอย่างนี้ การใช้ปุ๋ยเคมีลงไปในพืชผลทางการเกษตรของเราแล้วก็ไม่ใช่การทำเกษตรอินทรีย์แล้วสิ.....
    ตอบง่ายๆ ครับ ถ้าอย่างไหนมากเกินไปก็ไม่ดี น้อยเกินไปก็ไม่ดี  ไม่ให้ก็ขาดการเจริญเติบโต คนก็เหมือนกับพืช ถ้าเราไม่รับประทานอาหารที่ไม่มีธาตุเหล่านี้ก็จะไม่เจริญเติบโตอีกเช่นกัน 
    
นี่แค่ยกตัวอย่างแค่ธาตุอาหารมาแค่ 3 ตัวอย่าง  ซึ่งจริงๆแล้วทั้งคนและพืชยังต้องการธาตุเหล่านี้อีกเป็นจำนวนมากหลายธาตุ ทั้งที่ร่างกายสามารถผลิตได้เอง และที่ร่างกายเราไม่สามารถผลิตได้แต่จำเป็นต้องมี

การใช้ปุ๋ยเคมี ก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ แต่เราต้องใช้อย่างพอดี ไม่มากไป และควรจะใช้กับปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก ถึงจะทำให้ปุ๋ยเคมี มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นและยาวนานมากขึ้น ทั้งยังเป็นการลดต้นทุนให้กับเกษตรกรด้วย

การกระหนำใช้แต่ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว ก็เกิดผลเสียมากมายตามมา  ทำให้ดินเป็นกรด  ดินเปรี้ยว ดินแข็ง กว่าจะปรับสภาพดินได้ต้องใช้เวลาอีกนานและที่สำคัญ เปลืองเงินอีก  

การกระหนำใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียว ก็ทำให้เกิดผลช้าอีก เพราะธาตุอาหารบางอย่างต้องการตัวทำปฏิกิริยา เพื่อพืชจะได้นำไปใช้ประโยชน์ได้ บางคนก็อ่อนใจ ท้อไปก็มี

ทางที่ดีการใช้ปุ๋ยในการเกษตรควร ใช้อย่างพอเหมาะ ไม่หนักไปอย่างใดอย่างหนึ่ง พยายามทดลองด้วยตนเองว่าใช้ประมาณไหนถึงจะเหมาะกับพื้นที่ และพืชของตนเองที่ปลูก ต้องการ ถึงจะได้ผลผลิตที่ดีและไม่ขาดทุน


เดี๋ยวผมลงเชื่อมโยงการเจริญเติบโตของคนและพืช เมื่อเทียบกับการศึกษาบ้างนะครับ บล็อคนี้แค่นี้ก่อนนะครับ

ขอบคุณแหล่งข้อมูล
http://web.ku.ac.th/schoolnet/snet6/envi2/subsoil/potas.htm
https://web.ku.ac.th/schoolnet/snet6/envi2/subsoil/nitro.htm
https://en.wikipedia.org/wiki/Potassium
https://en.wikipedia.org/wiki/Nitrogen
https://en.wikipedia.org/wiki/Phosphorus




ความคิดเห็น