พิธีกรรม การบายศรีสู่ขวัญ


ศาสตร์หนึ่งของการรักษาโรคของคนท้องถิ่นที่มีมาแต่โบราณกาล

การทำบายศรีสู่ขวัญ ( เปรียบเสมือนยาขนานเอก ) 
     ศาสตร์แห่งการรักษาที่ทรงอานุภาพทางด้านจิตใจของคนชนบท ที่สามารถทำให้คนที่รู้สึกไม่สบายหายได้อย่างน่าอัศจรรย์ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม ตั้งแต่ทางการแพทย์ไม่เจริญรุ่งเรือง การรักษายังไม่ทันสมัยและไม่สามารถเข้าถึงคนในชนบท รวมทั้งค่ารักษาที่แพงมากในอดีต
     ภูมิปัญญานี้จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อมารักษาให้กับคนในชุมชน ให้หายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย 
     พิธีกรรมนี้ ค่อนข้างสำคัญถ้าเราศึกษาถึงเจตจำนงค์ของการทำนี้จริงๆ ลึกซึ้งมาก และ เป็นศาสตร์ที่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์ได้จริง ไม่ได้คิดกันมาเล่นๆเพื่อปั่นหัวคนโบร่ำโบราณ แต่เราจะเข้าถึงหัวใจของพิธีกรรมนั้นได้หรือไม่ มันก็ยากมากสำหรับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน
     แต่พิธีกรรมเช่นนี้เป็นความเชื่อ ( believe ) ของแต่ละบุคคล และสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะนำไปเป็นเครื่องมือของผู้ที่จะหากินกับคนได้ เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวัง ควรจะเลือกผู้ที่เราศรัทธาจริงๆ และไม่มีเรื่องเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้อง ค่าทำขวัญอยู่ที่ผู้ป่วยเต็มใจที่จะให้ ไม่ใช่เกิดจากการกะเกณฑ์ของหมอทำขวัญ 

การทำบายศรีสู่ขวัญ  ทางภาคเหนือก็จะพูดสั้นๆว่า การสู่ขวัญ  จะมีส่วนประกอบทางพิธีกรรม ดังนี้
   
     1. ไก่ต้ม 1 คู่  ลักษณะการต้มไก่ ต้องอยู่ครบ เครื่องใน และที่สำคัญหัวไก่ต้องหันออก 
     2. ถ้าคนป่วยเคยบวชมาก่อน จะมีการเย็บนมแมว ( หางนาค ) เรียบร้อย เพื่อให้สมเกียรติกับที่เคยได้บวชมา ( ครัวขวัญ )
     3. เสื้อผ้าของผู้ป่วย ประกอบด้วย เสื้อ , แว่น , หวี , ใส่ขันสลุง ( ขันเงินตอกลาย ) 
     4. ขั้นตั้ง ประกอบด้วย เหล้าขาว 1 ขวด , ผ้าฮำขาวและแดง , ดอกไม้และเทียน 8 คู่ , เบี้ย 1 หัว , หมาก 1 หัว , ใบพลู 1 มัด  ใส่รวมกันในขัน เพื่อที่จะเป็นขั้นตั้งขึ้นครูให้กับหมอทำขวัญ
     5. ฝ้ายมัดแขน

หมอทำขวัญ  
     จะต้องผ่านการบวชพระมาก่อน ( ศึกษาพระธรรมมาก่อน ) คนภาคเหนือจะเรียกว่า ป่อหนาน จะเป็นที่ยอมรับคนทั่วไป ทั้งผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย 
     หมอทำขวัญแต่ละคนมักจะท่วงทำนองการสู่ขวัญที่ต่างกัน คาถาหรือคำสู่ขวัญจะไม่ได้เหมือนกันเท่าไหร่ ( ต่างครูกัน ) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับความนิยมของผู้ที่จะไปเชิญหมอสู่ขวัญมาทำพิธี 
     การทำขวัญของหมอทำขวัญที่จะทำพิธีให้กับผู้ที่อาวุโสกว่าหรือมีตบะมากกว่า หมอทำขวัญจะให้เกียรติกับผู้ป่วยมากกว่าเสมอและจะให้นั่งในทิศที่อยู่สูงกว่าเสมอ
     
การสู่ขวัญจะแบ่งออกเป็นวาระต่างๆ ดังนี้

การสู่ขวัญให้กับผู้ป่วย   การสู่ขวัญแบบนี้จะกระทำให้กับผู้ป่วยโดยเฉพาะเป็นรายบุคคล และเมื่อใกล้จะสู่ขวัญเสร็จเขาจะมีพิธีเรียกขวัญ โดยการหยิบข้าวเปลือก เพื่อเป็นการเช็คดูว่าขวัญมาหรือยัง จะทำอยู่ 3 รอบ ถ้าแต่ละรอบได้ข้าว เป็นคู่ ทั้งสามรอบ ถือว่าขวัญมาแล้ว  แต่ถ้ารอบได้รอบหนึ่งเป็นจำนวนคี่ พ่อหมอจะทำพิธีเรียกขวัญใหม่อีกครั้ง จนได้ครบสามรอบ

การสู่ขวัญเพื่อสัมมาคารวะ ส่วนใหญ่จะทำให้กับผู้ที่อาวุโสที่สุดในบ้าน เช่น พ่อ แม่ พ่ออุ้ย แม่อุ้ย เป็นต้น มักจะทำในวันสงกรานต์ หรือวันปีใหม่
    จุดประสงค์ของการทำพิธีนี้ เป็นการรวมญาติ พี่ น้อง มิตรสหาย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และเป็นการขอขมาลาโทษ ที่ได้ล่วงเกินผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้าน เพื่อเป็นการอโหสิกรรม ให้แก่กันและกัน

การสู่ขวัญเพื่อส่งตัว  ดังเช่น ลูกหลานได้ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ , ไปทำงานต่างจังหวัด , เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับลูกๆ หลานๆ ของตนเอง

การสู่ขวัญเพื่อรับขวัญ  ดังเช่น ลูกหลานกลับมาจากการทำงานต่างจังหวัด , ลูกได้รับรางวัลใหญ่ เช่น เรียนจบ  ชนะการแข่งขัน เป็นต้น

การสู่ขวัญในงานพิธี เช่น งานแต่งงาน , งานบวช เป็นต้น

ทั้งหมด ทั้งมวล  ของการทำพิธีสู่ขวัญจะต้องประกอบด้วยปัจจัยอักหนึ่ง คือ ญาติ พี่ น้อง มิตรสหาย จะต้องมาร่วมกันสร้าง ตั้งแต่การตกแต่งครัวขวัญ และตอนสู่ขวัญจะต้องอยู่ร่วมพิธีด้วย ได้ผูกแขนให้ทุกคนที่มาต้องได้ผูกแขน ( ยิ่งแขนผู้ป่วยมีฝ้ายมัดแขนเยอะ ยิ่งขลัง )  นอกจากนี้การทำพิธีสู่ขวัญนั้นไม่รักษาแค่ผู้ป่วยแต่ยังรักษาถึงญาติ พี่ น้อง มิตรสหาย ที่มาร่วมด้วย ( ยาอีกขนานหนึ่งที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน )

สุดท้าย จะต้องร่วมรับประทานอาหารร่วมกันอย่างครึกครื้น ยิ้มแย้ม สังสรรค์ ด้วยเหล้าขันครูของหมอสู่ขวัญคนละเล็กละน้อยพอได้พูดคุยกัน เล่าความหลังที่สนุกสนาน ( ยาอีกขนานปิดท้าย ) 

รอยยิ้มของผู้ป่วย หรือผู้เข้าร่วมพิธี คือ ยาวิเศษ ที่สุด ที่สามารถรักษาได้ทุกอย่าง

กำลังใจจากญาติ พี่ น้อง สำคัญที่สุด 

ความคิดเห็น