สลากภัต ?

สลากภัต ? 

    สลากภัต เป็นประเพณีที่นิยมกันของชาวพุทธทางภาคเหนือหรืออาจจะมีภาคอื่น ตามประจำถิ่นในแต่ละพื้นที่ 




    สลากภัต จัดว่าเป็นกาลทาน เหมือนกับการทอดกฐิน คือ ตั้งแต่หลังจากวันออกพรรษา จนถึงวันลอยกระทง คือ ภายใน 1 เดือนนี้ เหมือนการทอดกฐินเลยครับ  

ภาพประกอบ

    สลากภัตเป็นสังฆทาน คือการทำบุญกับคณะสงฆ์  จริงๆ วัดหรือหมู่บ้านที่จะจัดทำนั้น คณะสงฆ์ต้องจำพรรษาครบองค์สงฆ์ คือไม่ตำกว่า 4 รูป ในวัดนั้น แต่ในปัจจุบันในข้อนี้ก็ถูกอนุโลม ปฏิโลม กันไปตามกาลเวลา

     สลากภัต ทางภาคเหนือ เรียกว่า กิ๋นสลาก  บางพื้นที่จะเวียนกันเป็นหมู่บ้านในการจัดทำสลากภัต บางพื้นที่ก็จะจัดขึ้นทุกปี  บางที่ก็จะมีการจัดการแข่งเรือยาวเพื่อกระชับความสามัคคีในชุมชนด้วย 

ก๋วยสลาก แบบใช้ไม้ไผ่มาจักสาน

     ผมไม่ทราบว่าในอดีต ประเพณีนี้ดำเนินการมาอย่างไร ทั้งทางด้านศาสนา ด้านสังคม ด้านโภชนาการ และด้านเศรษฐกิจ  จากการสอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่นั้น พัฒนาการจะเป็นไปตามสภาวะทางเศรษฐกิจของแต่ละยุคสมัย  

     ย้อนไปประมาณ 20 - 30 ปี ก่อนหน้านั้น แบ่งเป็นเรื่องเลยนะครับ

1. ปัจจัย ( เงิน ) ที่ใส่ในสลากเล็กๆ ( สลากข้าวซอง ) ประมาณ 2 สลึง ถึง 1 บาท เต็มที่ละ  ส่วนสลากใหญ่ ( กั๋น สลาก ) ประมาณ 10 บาท เท่านั้น 

2. โภชนาการ ( อาหาร ) ที่ใส่ในก๋วยสลากนั้น จะมี ข้าวเหนียว , เนื้อย่าง , พริกแห้ง , เกลือ , ผลไม้ , น้ำ ประมาณนี้ครับ 

3. ภาชนะที่ใช้บรรจุ ( ก๋วยสลาก ) จะเป็นไม้ไผ่ มาจักสาน ใช้ใบกุ๊ก รองด้านในมัดด้วยตอก

4. สังฆกรรมของสงฆ์  แบ่งตามจำนวนไม่ยึดติดอะไรมาก

ก๋วยสลากปัจจุบัน จะใช้ตะกร้า

      ปัจจุบันนี้ การทานสลากภัต ต่างไปจากเดิมมาก ตามกาลเวลาที่ผันแปร

1. ปัจจัย ( เงิน ) สลากเล็กๆ อย่างต่ำก็ประมาณ 20 บาท แล้วครับ ใครใส่เงินต่ำกว่านี้คงเป็นที่สะดุดตาของคนอื่น และที่สำคัญอาจจะมีเสียงนินทาตามมา 

2. โภชนาการ ( อาหาร ) ไม่ต่างจากในอดีตมากนักครับ ยังใส่เหมือนเดิมเพราะยังถือคติเดิมอยู่ ( ทั้งๆที่ควรจะเปลี่ยนตามกาลเวลา ) อาหารที่จะใส่ควรจะกินได้และไม่บูดเน่าเสีย และไม่หยิบย่อยจนมากเกินไป ( แบ่งแล้วแบ่งอีก ) 

3. ภาชนะที่ใช้บรรจุ ( ก๋วยสลาก ) เริ่มใช้ตะกร้ามาแทนก๋วยที่สานจากไม้ไผ่ ( ในความคิดดีครับ เพราะสามารถใช้ประโยชน์ได้ดีกว่า )

4. สังฆกรรมของสงฆ์   เริ่มเห็นแก่เงินมากขึ้น ทำเป็นธุรกิจ มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

สลากสร้อย
มุมของชาวบ้านในประเพณีทานสลากภัต 

     ในการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเครื่องถวายทานสังฆทาน ในงานประเพณีทานสลากภัต เป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียวครับสำหรับชาวบ้านในหมู่บ้านที่จัดงานนี้ขึ้น มาดูจุดประสงค์เป็นข้อๆ นะครับ

     - เป็นงานที่ร่วมญาติและเพื่อน ที่อยู่ไกลกัน ให้มาร่วมทำบุญและสังสรรค์ กันในแบบครอบครัว ได้พบปะพูดคุยสาระทุกข์สุกดิบด้วยกัน 

     - เป็นการรำลึกถึงญาติ พี่ น้อง วงศาคณาญาติ ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยผ่านการถวายทานกับพระภิกษุและสามเณร

     - เป็นการพัฒนาบ้านเรือนครั้งใหญ่ในรอบหลายๆปี 

     - เป็นการสร้างความสามัคคีในชุมชนเป็นการขอความร่วมมือซึ่งกันและกันในชุมชนในการจัดกิจกรรม

     - เป็นการสร้างเครือข่ายในสังคม อาทิ เช่น หน่วยงานต่างๆ หมู่บ้านใกล้เคียง ให้มาร่วมกันทำบุญ

     - เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการจับจ่ายซื้อของ 

     - เป็นการอนุรักษ์ ประเพณีและวัฒนธรรม ของชุมชนนั้นๆ เช่น เครื่องจักสาน , การประพันธ์ , ผ้าทอ , เครื่องแต่งกาย เป็นต้น

     

ถามว่างานนี้เปลืองอะไรมากที่สุด   คงหนีไม่พ้นค่าอาหารการกิน สุรายาเมา ที่ไว้ใช้ในการตอนรับแขกที่มาเที่ยวบ้านเรา ที่มาร่วมทำบุญกับเรา

เมื่อก่อนแถวหมู่บ้านผมหรือหมู่บ้านใกล้เคียง มีงานทานสลากภัต ที่หนึ่งนะ วัวกับควาย จะตายรวมๆกันหลายสิบตัวเลยหล่ะครับ ยังไม่รวมหมู ไก่ ปลา อีกนะ งานบุญครั้งหนึ่ง แต่ต้องแลกด้วยการสังเวยชีวิตอีกหลายชีวิต 

ยังไม่รวมถึงสุราน้ำเมาต่างๆ อีกนะ

มาดูงานบุญนะ เมื่อเปรียบเทียบกับศีล 5 นะ เราใช้ไปกี่ข้อ เหลือกี่ข้อ 

ศีล ข้อที่ 1   ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ การเบียดเบียนชีวิต 
                     ไม่เหลือครับข้อนี้ จากที่ผมเล่ามาข้างต้น บ้านไหนก็ต้องมีเนื้อวัวหรือควายอยู่แล้วครับ เพื่อมาทำอาหารเลี้ยงแขกที่มาบ้าน ไม่พอก็จะเป็น หมู ไก่ ปลา เพิ่มเติมอีก

ศีล ข้อที่ 2   ละเว้นจากการลักทรัพย์ หรือการเอาของผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาต
                     เหลือไหมครับ คิดว่าเราคงจะทำได้นะ แต่เมื่อเหล้าเข้าปาก พฤติกรรมเริ่มเปลี่ยน ยิ่งสมัยนี้เมื่อมีงานอย่างนี้ จะมีรำวงย้อนยุค มีสาวรำวงไว้ให้เกี้ยว พ่อบ้านใจกล้า คงต้องแอบจิ๊กเงินเมีย มาเที่ยวบ้างหล่ะ หรือไม่ก็แอบไปกินเหล้าต่อ

ศีล ข้อที่ 3   ละเว้นจากการเล่นชู้ หรือประพฤติผิดในกาม
                     เมื่อเหล้าเข้าปาก เมาได้ที่ จากที่ไปงานสลากภัต พอเย็นๆ ดึกๆ บางคนก็เล่นเลยบ้านไปต่อกันที่อื่นบ้าง เพราะเจ้าของบ้านเขาต้องเตรียมตัวไปวัดทำบุญ จะกินหัวราน้ำก็คงไม่ดี ทางออกคือไปต่อ .....

ศีล ข้อที่ 4   ละเว้นจากการพูดเท็จ หลอกลวง
                     เหลือไหมครับ

ศีล ข้อที่ 5   ละเว้นจากการดื่มของมึนเมา
                     เต็มๆ ก่อนเพื่อนเลยครับ

คิดว่าเราเหลือศีล ของเรากี่ข้อครับ  สำหรับชาวพุทธ   

แต่พวกเราคงไม่ซีเรียสอะไร เพราะเราก็ไม่ได้ถูกฝึกสอนให้ตั้งข้อสงสัยถึงประเพณีเหล่านี้อยู่แล้ว ถ้าคุณสงสัยเมื่อไหร่ คุณจะถูกต่อว่าและนินทาทันที 

คำหนึ่งที่ผมสังเกตุที่ใช้กันมากเมื่อหาเหตุผลมาล้างไม่ได้คือ  เขาทำมาอย่างนี้ก็ทำตามไป 

การเปลี่ยนแปลงประเพณี ที่ขัดกับพฤติกรรมและผลประโยชน์ เป็นอะไรที่ทำได้ยากเอามากๆ 




      


ความคิดเห็น