ความรู้เรื่อง การดับเพลิงเบื้องต้น

 ความรู้เรื่อง 

การดับเพลิงเบื้องต้น (Basic Fire)

 การเกิดของไฟ

       ไฟเกิดจากการรวมตัวขององค์ประกอบ 3 ประการ  ที่รวมตัวกันจนได้สัดส่วน


       1.เชื้อเพลิง  (FUEL) คือ สิ่งที่ติดไฟและลุกไหม้ได้

       2.ความร้อน  (HEAT) คือ ความร้อนที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะสามารถทำอุณหภูมิสูงจนทำให้สารเชื้อเพลิง      จุดติดไฟ  เช่น  สะเก็ดไฟ  ลูกไฟจากการเชื่อม  เครื่องจักรร้อน  ไฟฟ้าช็อต  เปลวไฟ  บุหรี่  ฟ้าผ่า  ฯลฯ

       3.อากาศ  (OXYGEN) คือ ในบรรยากาศทั่วไปมีออกซิเจน ประมาณ 21 % อยู่แล้ว ซึ่งสามารถทำให้ช่วยติดไฟได้


ประเภทของไฟ (FIRE  CLASSIFICATION)

   

1.ไฟประเภท A มีสัญลักษณ์เป็นรูปตัว A สีขาวหรือสีดำ  อยู่ในสามเหลี่ยมสีเขียว     ไฟประเภท A คือไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่มีลักษณะเป็นของแข็งเชื้อเพลิงธรรมดา เช่น ฟืน  ฟาง  ยาง  ไม้  ผ้า  กระดาษ  พลาสติก  หนังสัตว์  ฯลฯ

       วิธีการดับไฟประเภท A ที่ดีที่สุด  คือ  การลดความร้อน  (Cooling)  โดยการใช้น้ำ    

2.ไฟประเภท B มีสัญลักษณ์เป็นรูปตัว B สีขาวหรือสีดำ  อยู่ในสี่เหลี่ยมสีแดง            ไฟประเภท B คือไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่มีลักษณะเป็นของเหลวและก๊าซ  เช่น น้ำมันทุกชนิด  แอลกอฮอล์  ทินเนอร์  ยางมะตอย  จารบี  และก๊าซติดไฟทุกชนิด  เป็นต้น

       วิธีการดับไฟประเภท B ที่ดีที่สุด  คือ  การกำจัดออกซิเจน  การทำให้อับอากาศโดยการคุมดับ  การใช้ผงเคมีแห้ง       การใช้ฟองโฟมคลุมดับ  เป็นต้น


  3.ไฟประเภท C มีสัญลักษณ์เป็นรูปตัว C สีขาวหรือสีดำ  อยู่ในวงกลมสีฟ้า  ไฟประเภท C คือไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่มีลักษณะเป็นของแข็งที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านอยู่  เช่นอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด

       วิธีการดับไฟประเภท C ที่ดีที่สุด  คือ  การตัดกระแสไฟฟ้าแล้วจึงใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือน้ำยาเหลวระเหยที่ไม่มีสาร CFC ไล่ออกซิเจนออกไป


          4.ไฟประเภท D มีสัญลักษณ์เป็นรูปตัว D สีขาวหรือสีดำ  อยู่ในดาวห้าแฉก สีเหลือง         ไฟประเภท D คือไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่มีลักษณะเป็นโลหะและสารเคมีติดไฟ  เช่น        วัตถุระเบิด  ผงแมกนีเซียม  ปุ๋ยยูเรีย (แอมโมเนียมไนเตรต) ฯลฯ

วิธีการดับไฟประเภท D ที่ดีที่สุด  คือ  การทำให้อับอากาศโดยการคุมดับ  หรือใช้สารเคมีเฉพาะ (ห้ามใช้น้ำดับ)  จะต้องศึกษาหาข้อมูลแต่ละชนิดของสารเคมีหรือโลหะนั้นๆ  เป็นต้น


 

5.ไฟประเภท K มีสัญลักษณ์เป็นรูปตัว K สีขาว อยู่ในรูปหกเหลี่ยมสีดำ ไฟประเภท K คือไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่มีลักษณะเป็นน้ำมันที่ไม่คายไอในสภาวะปกติ เช่น น้ำมันพืช   ไขมันสัตว์ต่างๆ  เป็นต้น

       วิธีการดับไฟประเภท K ที่ดีที่สุด  คือ  การกำจัดออกซิเจน  การทำให้อับอากาศ   ซึ่งจะมีถังดับเพลิงชนิดพิเศษที่สามารถดับไฟชนิดนี้โดยเฉพาะ


 เครื่องดับเพลิงชนิดต่างๆ                                                

เครื่องดับเพลิงแบบมือถือ (Portable extinguisher)

 ประเภทของเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ

เครื่องดับเพลิงแบบมือถือมีอยู่หลายประเภท ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของการใช้งานไม่ว่าจะเป็น ประเภทของเชื้อเพลิงและสถานที่ที่จะฉีดดับเพลิงซึ่งเครื่องดับเพลิงที่ใช้กันอยู่มีดังต่อไปนี้

1 เครื่องดับเพลิงชนิดบรรจุน้ำสะสมแรงดัน

ใช้สำหรับดับเพลิงประเภท A เท่านั้น ขนาดที่นิยมใช้กันทั่วไปคือ 9 ลิตร ตัวถังทำด้วยสแตนเลส เพื่อป้องกันการเกิดสนิมภายในถังบรรจุก๊าซไนโตรเจน เพื่อให้มีความดันสะสมที่ 100 PSI  (ปอนด์/ตารางนิ้ว)

2 เครื่องดับเพลิงชนิดโฟมสะสมแรงดัน ใช้สำหรับดับเพลิงประเภท A,B ขนาดที่นิยมใช้ทั่วไป คือ ขนาดบรรจุ  9 ลิตร ตัวถังทำด้วยสแตนเลส เพื่อป้องกันการเกิดสนิม ภายในถังบรรจุน้ำที่ผสมน้ำยาโฟมตามอัตราส่วนที่ผู้ผลิตกำหนดใช้ก๊าซไนโตรเจนเป็นแรงขับดัน

3 เครื่องดับเพลิชนิดบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2เหมาะสำหรับเพลิงประเภท B และ C ภายในบรรจุก๊าซให้มีความดัน 1,000 PSI   

ดังนั้นตัวถังต้องเป็นถังเหล็กขึ้นรูปแผ่นเดียวและต้องทำการตรวจสอบสภาพทุก ๆ 6 เดือน                                      โดยวิธีชั่งน้ำหนักในสภาวะปกติ หากน้ำหนักสูญหายไปเกินกว่า 10 % ควรทำการเติมก๊าซใหม่

        4 เครื่องดับเพลิงชนิดบรรจุน้ำยาเหลวระเหย สำหรับฉีดดับเพลิงประเภท A B C นิยมใช้ในบริเวณที่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และในบริเวณที่ต้องการความสะอาด สารดับเพลิงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


5 เครื่องดับเพลิงชนิดบรรจุผงเคมีแห้ง สำหรับฉีดดับเพลิงประเภท A B C ภายในบรรจุผงเคมีแห้ง และก๊าซไนโตรเจน ควรมีการตรวจสอบสภาพทุก ๆ 6 เดือน    เช่น การจับตัวของผงเคมี     การรั่วไหลของแก๊ส คันบีบ การอุดตันของปลายหัวฉีดการผุกร่อนของตัวถัง


ขอบคุณภาพจาก PTT

สิ่งที่ควรปฏิบัติและควรรับทราบ

       เมื่อเกิดเพลิงไหม้คนที่อยู่ในเหตุการณ์จะเกิดอาการตกใจ ขาดสติ และพร้อมที่จะวิ่งออกจากสถานที่นั้นเพื่อนเอาชีวิตรอด  ผู้ที่มีสติอยู่บ้างก็รีบเข้าไปดับเพลิงไหม้แต่ถ้าเครื่องดับเพลิงไม่ถูกต้อง หรือใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมเข้าดับเพลิง จะทำให้ไม่สามารถดับเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 สิ่งที่ทำให้การตอบสนองหรือรับรู้เหตุการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับ

1. การเรียนรู้ กรณีเพลิงไหม้จะต้องรู้ถึงสาเหตุการลุกไหม้ อันตรายจากการลุกไหม้ ระยะเวลาของการลุกไหม้ ทำให้เกิดการเตรียมแผนและอุปกรณ์เพื่อเข้าระงับเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังต้องมีการเตรียมการป้องกันมิให้เกิดอัคคีภัยอีกทางหนึ่งด้วย

2. การเตือนภัย ข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภัยอันตรายต่างๆ ถ้าหากได้รับสัญญาณเตือนภัยอย่านิ่งเฉย การเตือนภัยที่ช้ามาก ก็ทำให้เกิดอัคคีภัยลุกลามใหญ่โตแรงรุนแรง

       3. การวางแผน รับสถานการณ์ เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันอัคคีภัย การวางแผนที่ดีจะต้องมีรายละเอียดพอสมควร และต้องมีการฝึกซ้อม แก้ไขปัญหาและปรับปรุงในสิ่งที่ไม่ดี

4. การสื่อสารและการคมนาคม การสื่อสารและการให้ข้อมูลที่แม่นยำถูกต้องและรวดเร็วเป็นปัจจัยสำคัญในขณะเกิดอัคคีภัย

5. ผู้นำ ถ้าผู้นำมีสภาวะผู้นำที่ดี มีการเตรียมการณ์ จะสามารถรองรับกับสถานการณ์อัคคีภัยได้ดี

6. ขวัญและกำลังใจ การมีอุปกรณ์ มีผู้นำที่ดี ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดีสาธารณะภัยต่างๆที่ยุ่งยากลำบากเพียงใด    ก็สามารถดำเนินการให้ลุล่วงจนเป็นผลสำเร็จและเป็นการลดความเสียหายได้


 การป้องกันแหล่งกำเนิดของการติดไฟ

       ข้อแนะนำสำหรับการดูแลป้องกันแหล่งกำเนิดของการติดไฟนั้น อาจจะทำได้โดยการลดความร้อนหรือการกำจัดไม่ให้มีเชื้อเพลิงไปสัมผัสความร้อนซึ่งกล่าวโดยสังเขปได้ดังนี้

1. อุปกรณ์ไฟฟ้า ควรใช้ให้เหมาะสมและมีมาตรฐาน และควรมีการตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ

2. การลดความเสียดทาน อาจทำได้โดยการใช้สารสำหรับหล่อลื่นที่ไม่ไวไฟและเป็นชนิดที่ได้รับการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ควรมีการทำความสะอาดอุปกรณ์ เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของฝุ่นซึ่งอาจเป็นเชื้อไฟ

3. วัสดุไวไฟชนิดพิเศษ ควรเก็บรักษาให้ถูกต้องเหมาะสมและต้องมีผู้เชี่ยวชาญควบคุมดูแล

4. การเชื่อม และการตัดโลหะ ควรจัดเป็นบริเวณแยกต่างหากจากงานอื่นๆ ควรอยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกและพื้นที่จะต้องเป็นชนิดทนไฟ แต่ถ้าหากจัดให้อยู่แยกต่างหากไม่ได้ ก็ควรจัดเตรียมบริเวณสำหรับการตัดและการเชื่อมนั้นให้อยู่ในพื้นที่ทนไฟ และต้องป้องกันประกายไฟจากการเชื่อมหรือตัดไม่ให้กระเด็นไปในบริเวณอื่นๆควรจัดหาอุปกรณ์สำหรับดับเพลิงไว้ในบริเวณดังกล่าวด้วย

5. การใช้เตาแบบปิดหรือเปลวไฟที่ไม่มีสิ่งปิดคลุม ต้องมีการป้องกันการกระเด็นของลูกไฟ ต้องไม่เก็บสารที่เป็นเชื้อเพลิงในบริเวณที่ใกล้เคียง บริเวณที่ทำงานไม่ควรทิ้งให้ติดไฟโดยไม่มีการควบคุมดูแล

 6. การสูบบุหรี่ และการจุดไฟ ควรจัดให้มีบริเวณสูบบุหรี่โดยเฉพาะและมีป้ายแสดงบอกไว้และต้องเข้มงวดให้พนักงานปฏิบัติตาม บริเวณที่อนุญาตให้สูบบุหรี่ควรจัดภาชนะสำหรับใส่ก้นบุหรี่

       7. วัตถุที่ผิวร้อนจัด เช่น ปล่องไฟ ท่อไอน้ำ ท่อน้ำร้อน ไม่ควรติดตั้งผ่านส่วนที่เป็นพื้นที่หรือเพดาน ควรจัดให้ผ่านผนังทนไฟหรือมีการหุ้มห่อด้วยสารหรือวัตถุทนไฟ สำหรับโลหะที่ถูกทำให้ร้อนจัดควรบรรจุในภาชนะหรือผ่านไปตามอุปกรณ์ที่จัดไว้โดยเฉพาะ

8. ไฟฟ้าสถิต ประจุไฟฟ้าสถิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นเนื่องจากการเสียดสีของสารที่ไม่เป็นตัวนำซึ่งเมื่อเกิดการถ่ายเทประจุไฟฟ้าก็จะทำให้เกิดประกายไฟ และถ้าประกายไฟสัมผัสกับเชื้อเพลิงก็อาจเกิดการลุกไหม้ได้ การป้องกันไม่ให้เกิดไฟฟ้าสถิต วิธีแก้ไขที่นิยมใช้โดยทั่วไปก็คือ

ก.      การต่อสายดิน (Grounding)

ข.      การต่อกับวัตถุที่ทำหน้าที่เป็นตัวรับประจุได้ (Bonding)

ค.      รักษาระดับความชื้นสัมพันธ์ที่ระดับที่เหมาะสม

ง.   การทำให้บรรยากาศรอบๆ เป็นประจุไฟฟ้า ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวนำประจุไฟฟ้าออกจากวัตถุที่เก็บประจุไฟฟ้าสถิตไว้ในตัวมัน แต่วิธีนี้ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

9. เครื่องทำความร้อน ตัวเครื่องควรมีระบบระบายอากาศที่ดี เพราะเชื้อเพลิงถ้าเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จะเกิดก๊าซคาร์บอนโมนอกไซด์ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต   ในกรณีที่มีเปลวไฟควรมีฝาปิดกั้นที่ทนไฟและไม่ติดไฟ มีปล่องสำหรับปล่อยอากาศร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้

10. การลุกไหม้ด้วยตนเอง เกิดจากปฏิกิริยาการสันดาปของออกซิเจนกับเชื้อเพลิงจนกระทั่งติดไฟ และเกิดการลุกไหม้ขึ้น ส่วนมากมักจะเกิดขึ้นในบริเวณที่มีการระบายอากาศไม่พอเพียง ซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนสูง ดังนั้นในที่ที่เก็บสารหรือเชื้อเพลิงควรมีระบบการถ่ายเทอากาศที่เหมาะสม

 


ความคิดเห็น